สมุนไพรกาหลง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสี้ยวน้อย (เชียงใหม่), โยธิกา (นครศรีธรรมราช), กาแจ๊กูโด (มลายู-นราธิวาส), ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของกาหลง
นกาหลง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเมืองร้อนของหลายประเทศตั้งแต่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงและไม่ค่อยมีขน ต้นกาหลงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางและชอบแสงแดดแบบเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและการเพาะเมล็ด หากปลูกจากเมล็ดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 ปีจึงจะออกดอกและติดฝัก
สรรพคุณของกาหลง
ดอกมีรสสุขุม ช่วยลดความดันโลหิต (ดอก) ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก,ราก) ใบใช้รักษาแผลในจมูก (ใบ) ดอกช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน (ดอก) บ้างก็ว่าในส่วนของต้นก็มีสรรพคุณแก้ลักปิดลักเปิดเช่นกัน (ต้น) ต้นและรากเป็นยาแก้เสมหะ (ต้น, ราก) ดอกช่วยแก้เสมหะพิการ (ดอก) ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ดอก) รากใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยแก้อาการไอ (ราก) รากใช้เป็นยาแก้บิด (ราก) ต้นกาหลงเป็นยาแก้โรคสตรี (ต้น)
ประโยชน์ของกาหลง
ดอกสามารถใช้รับประทานได้ และชาวเขาจะนิยมใช้ยอดอ่อนมารับประทาน ต้นกาหลงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้งในบริเวณอาคารบ้านเรือน และใช้ปลูกตามที่สาธารณะ อาจจะเป็นต้นแบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ มีดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดปี อีกทั้งรูปร่างของใบและทรงพุ่มก็งดงาม สามารถจัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ปลูกเลี้ยงได้สบาย ไม่ต้องการปุ๋ยมาก และขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เพราะสามารถจับปุ๋ยจากอากาศได้เอง แต่ควรปลูกไม้พุ่มเตี้ยด้านหน้าเพื่อใช้บังโคนต้นที่เปิดโล่งอยู่ของต้นกาหลงชาวจีนมักปลูกต้นกาหลงไว้เป็นไม้ประจำบ้าน ด้วยเชื่อว่าต้นกาหลงเป็นไม้ที่ให้คุณแก่เจ้าของบ้าน