สมุนไพรตาเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เลาหาง (เชียงใหม่), ขมิ้นดง (ลำปาง), เซ่ (แม่ฮ่องสอน), เย็นดง (กำแพงเพชร), ตาปู่ (ปราจีนบุรี), มะยมหางก่าน (บุรีรัมย์), ตุ้มดง (กระบี่), มะหังก่าน มะฮังก่าน มะอ้า (ภาคเหนือ), โกล ตาเสือ (ภาคกลาง), แดงน้ำ (ภาคใต้), เชือย โทกาส้า พุแกทิ้ เส่ทู่เก๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), ยมหังก่าน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ลักษณะของตาเสือ
ต้นตาเสือ จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาแตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง
สรรพคุณของตาเสือ
เนื้อไม้มีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้) เปลือกต้นมีรสฝาดเมา มีสรรพคุณเป็นยาปิดธาตุ กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ (เปลือกต้น) แก่นใช้ทำเป็นยาสมานท้องไส้ได้ดี (แก่น) เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เนื้อไม้) ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น) เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก (เปลือกต้น) เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น) ใบมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวม (ใบ) ผลมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวมตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย หรือใช้เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดตามข้อ (เปลือกต้น, ผล)
ประโยชน์ของตาเสือ
ไม้ตาเสือสามารถเอามาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ดี เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง เหนียว มีความแข็งแรงทนทานดี ผลใช้เป็นอาหารของนกเงือก