สมุนไพรรางแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้องแกบ เขาแกลบ เห่าดำ ฮองหนัง ฮ่องหนัง (เลย), ปลอกแกลบ (บุรีรัมย์), เถามวกเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก (สระบุรี), กะเลียงแดง (ชลบุรี-ศรีราชา), แสงอาทิตย์ แสงพระอาทิตย์ รางแดง (ประจวบคีรีขันธ์), ก้องแกบ ก้องแกบเครือ ก้องแกบแดง เครือก้องแกบ หนามหัน (ภาคเหนือ), เถาวัลย์เหล็ก เถามวกเหล็ก กะเลียงแดง รางแดง (ภาคกลาง), ทรงแดง (ภาคใต้), ซอแพะแหล่โม (กะเหรี่ยง), ตะแซทูเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กะเหรี่ยงแดง, โกร่งเคอ, เคือก้องแกบ, เถาวัลย์, ย่านอีเหล็ก, เป็นต้น
สรรพคุณของรางแดง
เถามีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ จะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นด้วยก็ได้ ซึ่งตามตำรับยาอายุวัฒนะจะใช้รางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร และน้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร นำมาดองไว้ 15 วัน ใช้กินครั้งละ 30 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะใช้เถารางแดงผสมกับต้นเถาวัลย์เปรียง ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เถา) หมอยาอีสานจะมีทั้งใช้เถานำมาต้มกิน หรือนำใบมาชงเป็นชา (ซึ่งอาจจะใช้แบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ก็ได้) เพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง (ตำรับยานี้สามารถช่วยแก้เส้น แก้เอ็น อาการปวดหลัง ปวดเอง ปวดแข้ง ปวดขา ได้ด้วย) แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ การดองเหล้า (ใช้รากนำมาดองกับเหล้า) (เถา,ราก,ใบ) เถานำมาหั่นตากแดด แล้วนำมาปรุงเป็นยากินรักษาโรคกษัย รักษาอาการกล่อนลงฝัก และกล่อนทุกชนิด (เถา) ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้กษัยเช่นกัน (ราก) ตำรับยาช่วยทำให้เจริญอาหาร จะใช้เถารางแดง, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, ต้นเถาวัลย์เปรียง และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยให้เจริญอาหาร (เถา) ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบนำมาลนไฟหรือตากให้แห้งแล้วชงกับน้ำดื่ม ก็ช่วยทำให้เจริญอาหารได้เช่นกัน (ใบ) เถานำไปต้มกับน้ำดื่มช่วยลดคอเลสเตอรอล (เถา) (ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยัน) ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ (เถา) รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ราก) ใบนำมาลนไฟแล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มแทนใบชา จะช่วยทำให้ชุ่มคอ (ใบ) ตำรายาไทยจะใช้ใบนำมาปิ้งไฟให้กรอบ ใช้ชงกับน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ใบ) ส่วนเถาก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เถา) ตำรับยาแก้ผิดสาบ จะใช้รากรางแดง, รากชะอม, รากเล็บเหยี่ยว, รากสามสิบ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง, และเขากวาง นำมาฝนใส่ข้าวจ้าวกินแก้ผิดสาบ (ราก)
ลักษณะของรางแดง
ต้นรางแดง จัดเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ เถาเป็นสีเทา ผิวของลำต้นหรือเถาเป็นรอยแตกระแหงเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม (ลำต้นเมื่อยังอ่อนจะเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อแก่แล้วจะแตกเป็นสีแดง) ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบเถา กิ่งชำ กิ่งตอน และใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าโปร่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางจังหวัดสระบุรี ส่วนในกรุงเทพฯ มีการปลูกกันบ้างตามบ้าน
ใบรางแดง
ใบรางแดง แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น เมื่อนำใบมาผิงไฟเพื่อทำยาจะมีกลิ่นคล้ายกับแกลบข้าว