สมุนไพร หมายถึง พืช ที่นำไปทำเป็นเครื่องยา มีสรรพคุณในการรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ (หาได้ตามพื้นบ้าน หรือป่า) ส่วนคำว่า “ยาสมุนไพร” ตามพระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2510 หมายถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ แร่ธาตุ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพ แต่การนำไปใช้สามารถดัดแปลงรูปลักษณะเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น อาทิ การนำไปหั่นให้เล็กลง การนำไปบดเป็นผง เป็นต้น การใช้บำบัดอาจใช้แบบสมุนไพรเดี่ยวๆ หรืออาจใช้ในรูปของตำรับยาสมุนไพร
การจำแนกสมุนไพร
1. การจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์
1.1 สมุนไพรที่ใช้เป็นยา แบ่งได้เป็นยารับประทาน ซึ่งนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคได้ เช่น บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ใช้แก้ไข้ เป็นต้นและยาสำหรับใช้ภายนอก เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาบำบัดโรคที่เกิดขึ้นตามผิวหนังแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกายเช่น บัวบก ว่านหางจระเข้ ใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวก เป็นต้น
1.2 สมุนไพรที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มพืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ เช่น บุก ดูดจับไขในจากเส้นเลือด ส้มแขก ยับยั้งกระบวนการสร้างไขมันจากแป้ง
1.3 สมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง เช่น ขมิ้นชัน ไพล อัญชัน ว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เห็ดหลินจือ ที่เป็นส่วนผสมในแชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่นเป็นต้น
1.4 สมุนไพรที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่สมุนไพรที่ใช้ในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เบื่อเมาหรือมีรสขม เช่น สะเดา ยาสูบ ตะไคร้หอม หางไหล หนอนตายหยาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ใช้ในการ ปศุสัตว์ เช่น ฟ้าทะลายโจร ใช้ผสมอาหารสัตว์เป็นต้น
1.5 สมุนไพรที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย เช่น โหระพา มะกรูด
2. การจำแนกตามลักษณะภายนอกพืช
2.1 ไม้ยืนต้น (tree) เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นใหม่ ลำต้นเดี่ยว สูงมากกว่า 6 เมตร เจริญเติบโตตั้งตรงขึ้นไป
2.2 ไม้พุ่ม(shrub) เป็นต้นไม้ที่มีเนื้อไม้ขนาดเล็ก และเตี้ยมีหลายลำต้นที่แยกจากดินหรือลำต้นจะแตกกิ่งก้านใกล้โคนต้น หรือมีลำต้นเล็กๆ หลายต้นจากโคนเดียวกัน ทำให้ดูเป็นกอหรือเป็นพุ่ม
2.3 ไม้ล้มลุก (herb) เป็นพืชที่มีลำต้นอ่อน ไม่มีเนื้อไม้ หักง่าย มีอายุ 1 หรือหลายปี
2.4 ไม้เลื้อยหรือไม้เถา (climber) เป็นพืชที่มีลำต้นยาว ไม่สามารถตั้งตรงได้ต้องอาศัยสิ่งยึดเกาะตามกิ่งไม้ อาศัยส่วนของพืชเกาะ อาจเป็นลำต้น หนวดหรือนามก็ได้
3. การจำแนกตามหลักพฤกษศาสตร์
จำแนกตามลักษณะของโครงสร้างของดอก รวมทั้งความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการพืช โครงสร้างการจำแนกตามหลักนี้ ถือว่าเป็นระบบที่ถูกต้องแน่นอนที่สุดเป็นที่ยอมรับทางสากล โดยพืชที่อยู่ในตละกูลหรือจีนัส(genus) เดียวกันจะบอกความสัมพันธ์และแหล่งกำเนิด มีความต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต การควบคุมโรคแมลงที่คล้ายคลึง ซึ่งพืชสมุนไพรเหล่านี้จะมีชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อวงศ์ เพื่อจำแนกพืชสมุนไพรได้ถูกต้อง
ประเภทของพืชสมุนไพร
พืชสมุนไพร เป็นพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่นำมาใช้ปรับปรุงหรือประกอบเป็นยารักษาโรค ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
1. ประเภทต้น เช่น กระดังงา กระท้อน กาหลง กระถิน เป็นต้น
2. ประเภทเถา เช่น โคกกระออม กระทกรก มะแว้งเครือ เป็นต้น
3. ประเภทหัว เช่น กระทือ กระวาน ขมิ้น มหากาฬ กลอย เป็นต้น
4. ประเภทผัก เช่น ผักเสี้ยนผี ใบบัวบก ผักกาดนา ผักคราด ผักหวานบ้าน เป็นต้น
5. ประเภทหญ้า เช่น กระทืบยอด ต้อยติ่ง พระจันทร์ครึ่งซีก หญ้าใต้ใบ งูพันเขียว เป็นต้น
การปรุงยาสมุนไพร
การปรุงยาเป็นการสกัดเอาตัวยาออกจากพืชให้มากที่สุด โดยใช้น้ำ น้ำมัน หรือเหล้า ด้วยวิธีการต้ม ชง ดอง ฝน บดเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน ตำคั้นเอาน้ำ เป็นต้น
- ยาต้ม เป็นการปรุงยาสมุนไพรด้วยความร้อนที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก
- ยาชง เป็นการปรุงยาโดยใช้สมุนไพรแห้ง เติมด้วยน้ำร้อนลงไปเป็นตัวทำลาย ส่วนใหญ่จะใช้กับส่วนของสมุนไพรที่บอบบาง อ่อนนุ่ม เช่น ดอก ใบ ไม่ต้องใช้ต้มตัวยาก็ละลายออกมาได้
- ยาดองเหล้า เป็นการปรุงยาโดยใช้เหล้าเป็นตัวทำลายสกัดตัวยาออกมา มักใช้กับตัวยาในสมุนไพรที่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์
- ยาผง เป็นการปรุงยาโดยใช้สมุนไพรที่ล้างสะอาดแล้วไปอบหรือตากให้แห้งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงบดให้เป็นผง ยาผงนี้ควรบดให้ละเอียดมาก เนื่องจากยาผงยิ่งละเอียดเท่าใดสรรพคุณก็จะดีขึ้นตามไปด้วย เพราะเมื่อรับประทานเข้าไป ยาผงที่ละเอียดจะย่อยได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น ตัวยาก็จะดูดซึมได้เร็วและง่ายขึ้น เวลานำมารับประทานอาจจะใช้วิธีปั้นเป็นลูกกลอน ชง หรือผสมเหล้าก็ได้
- ยาตำคั้นเอาแต่น้ำ ปรุงโดยการใช้สมุนไพรมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาใช้กากทิ้งไป น้ำยาที่ได้ก็จะมีกลิ่น รส รุนแรง ยามีความเข้มข้นมาก
- ยาฝน ปรุงโดยการฝนยาในขันใส่น้ำที่สะอาด จุ่มหินหยาบขนาดเล็กลงไปในน้ำ ให้หินโผล่เหนือน้ำเล็กน้อย ฝนยากับหินจนได้น้ำยาสีขุ่นข้นเล็กน้อย ถ้าไม่ฝนกับหินอาจฝนกับฝาหม้อดินที่ใส่น้ำก็ได้
- ยาพอก เป็นยาที่ใช้ภายนอก เตรียมโดยเอาสมุนไพรสดมาตำให้ละเอียด ผสมเหล้าเป็นน้ำกระสายยา เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น คนให้เข้ากันจากนั้นจึงนำยาไปพอกอวัยวะที่ต้องการรักษาตามหลักการแพทย์แผนไทย