อ้อย มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ จะแตกต่างกันที่ความสูงของต้น ความยาวของข้อต้น และสีของลำต้น[4] โดยต้นอ้อยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย หรือในประเทศปาปัวนิวกินี และประเทศที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของโลกได้แก่ ประเทศบราซิล ประเทศคิวบา และประเทศอินเดีย
สรรพคุณของอ้อย
ทั้งต้นใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ใช้รักษาโรคได้สารพัด (ทั้งต้น) ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้แก่นอ้อยดําผสมกับแก่นปีบและหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มดื่ม (แก่น) ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการอ่อนเพลีย รักษาอาการผอมแห้ง หิวและหอบ ไม่มีเรี่ยวแรง (ราก, ทั้งต้น) ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้เกิดกำลัง (ราก, ต้น, น้ําอ้อย, ตาอ้อย, ทั้งต้น) ช่วยบำรุงธาตุ เจริญธาตุ ผายธาตุในร่างกาย (ต้น, ตาอ้อย, น้ำอ้อย) ช่วยบำรุงธาตุน้ำ (ต้น, ตาอ้อย, น้ำอ้อย) ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ บำรุงอาโปธาตุ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยบำรุงโลหิต (ราก) ช่วยดับพิษโลหิตแดงอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยรักษาเลือดลม (ราก, ทั้งต้น)
อ้อยดำ
ต้นอ้อยดำ จัดเป็นไม้ล้มลุก มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของลำต้นประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะแข็งแรงและเป็นมัน มีลำต้นคล้ายกับต้นอ้อยทั่วไป แต่จะมีสีม่วงแดงถึงสีดำ และมีไขสีขาวเคลือบลำต้นอยู่ ลำต้นมีลักษณะกลมยาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน โดยแต่ละปล้องอาจจะยาวหรือสั้นก็ได้ ผิวเปลือกเรียบสีแดงอมม่วง มีตาออกตามข้อ ไม่แตกกิ่งก้าน เนื้ออ่อน ฉ่ำน้ำ เปลือกมีรสขม ส่วนน้ำไม่ค่อยหวานแหลมเหมือนอ้อยธรรมดา และมักมีรากอากาศขึ้นอยู่ประปราย โดยเป็นพืชที่ชอบดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง มีแสงแดดจัด สามารถปลูกขึ้นได้ในดินทั่วประเทศไทย และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือการใช้หน่อจากเหง้า
ใบของอ้อยดำ
ใบอ้อยดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกที่ข้อแบบเรียงสลับ หลุดร่วงได้ง่าย จึงพบได้เฉพาะที่ปลายยอด โดยจะมีกาบใบโอบหุ้มตามข้ออยู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน แคบยาวเรียว มีขนสากคายอยู่ทั้งสองด้านของแผ่นใบ โดยแผ่นใบจะเป็นสีม่วงเข้ม และมีไขสีขาวปกคลุมอยู่ มีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบหุ้มลำต้น ส่วนกลางใบเป็นร่อง และขอบใบเป็นจักแบบละเอียดและคม โดยเส้นกลางใบใหญ่จะเป็นสีขาวและมีขน