สมุนไพรตีนนก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สมอป่า สมอหิน สวองหิน (นครราชสีมา), ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม (ตราด), เน่า (ลพบุรี), สมอตีนนก (ราชบุรี), ไข่เน่า (นครราชสีมา, ลพบุรี), กะพุน ตะพรุน (จันทบุรี), กานน สมอกานน (ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), นนเด็น (ปัตตานี), กาสามปีก (ภาคเหนือ), ตีนนก สมอบ่วง (ภาคกลาง), โคนสมอ (ภาคตะวันออก), นน สมอตีนเป็ด (ภาคใต้), ลือแม (มาเลย์-นราธิวาส), ไม้ตีนนก (ไทลื้อ) เป็นต้น
ลักษณะของตีนนก
ต้นตีนนก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลิใบใหม่ได้ไว ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้างทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ดยาว ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสี่มุมตามยาว ทั้งกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด และชายป่าพรุทั่วทุกภาคของประเทศ
สรรพคุณของตีนนก
เปลือกต้น แก่น และราก นำมาบดให้เป็นผง ใช้ละลายกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น, แก่น, ราก) รากมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับลม (ราก) ผลใช้เป็นยาแก้บิด (ผล) ใบใช้ตำพอกแผล (ใบ)
ประโยชน์ของตีนนก
เนื้อไม้ตีนนกมีความแข็งแรง ทนทาน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างบ้านเรือน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือทางการเกษตร และใช้ในการทำเชื้อเพลิง